วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คืออะไร? ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

กฎหมายนี้มีความเป็นมาอย่างไร?
ในสมัยรัชกาลที่ห้า มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ. 118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา" ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 โดยเพิ่มโทษเป็นโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ไม่เกิน 15 ปี(กำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้ด้วย) จะเห็นได้ว่ากำหนดอัตราโทษที่สูงมากเช่นนี้ ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอสมควรแก่เหตุ

ประเทศอื่นๆมีกฎหมายที่คุ้มครองกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐหรือไม่?
ประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สเปน จอร์แดน เดนมาร์ก ล้วนมีมาตราที่ระบุให้กษัตริย์อยู่ในสถานะที่ละเมิดหรือกล่าวโทษไม่ได้ แต่ความแตกต่างของกฎหมายของไทยกับประเทศเหล่านั้นส่วนหนึ่งอยู่ที่อัตราโทษและความถี่ในการฟ้องร้องคดี กล่าวคือในขณะที่ ในศตวรรษที่ 21 กฎหมายหมิ่นฯของประเทศไทยมีบทลงโทษที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น โดยอัตราโทษที่ต่ำที่สุดของไทย (3 ปี) เท่ากับอัตราโทษที่สูงที่สุดของจอร์แดน และโทษขั้นสูงที่สุดของไทยมากกว่าประเทศส่วนมากในภูมิภาคยุโรปถึงสามเท่า ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสเปนจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี นอร์เวย์ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำและโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี  เนเธอร์แลนด์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีโทษปรับ  สวีเดนจำคุกไม่เกิน 6 ปี  ในขณะที่ความถี่ในการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯในประเทศเยอรมนีเคยมีมากเป็นอันดับหนึ่งในศตวรรษที่ 19 - 20  หรือสเปนและญี่ปุ่นเมื่อ 70-80 ปีที่แล้วมีการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯจำนวนมากเมื่อเทียบกับไทยในสมัยเดียวกัน แต่จำนวนคดีหมิ่นฯในปัจจุบันของไทยกลับแซงหน้าเป็นอันดับที่หนึ่ง

สถานการณ์คดีหมิ่นฯของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ตัวเลขผู้ที่ถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาที่ผ่านมา  ในระหว่างปี             2535 – 2547       ตัวเลขของคดีหมิ่นฯที่มีการฟ้องร้องกันในศาลเฉลี่ยแล้วมีน้อยกว่า 10 คดี ดังนั้นผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวจึงยังจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ระหว่างปี             2548 – 2552       ตัวเลขของคดีหมิ่นฯมีมากถึง 547 คดี ที่ถูกนำไปพิจารณาคดีทั้งในระดับศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เฉลี่ยแล้วปีละ 109 คดี และมีที่ศาลมีคำตัดสินว่าเป็นการหมิ่นฯแล้วจำนวน247 คดี  ในปี 2552 เพียงปีเดียวมีการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯในระดับศาลชั้นต้นมากถึง 164 คดี
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาหมิ่นฯควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 15 และ16  ผลการศึกษาสถิติการดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ระหว่างปี             2550 – 2553       พบว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับข้อหาหมิ่นฯมีมากถึง 31 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ถูกตั้งข้อหาควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถึง 26 คดีและยังมีคดีหมิ่นฯที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกอย่างน้อย 997 คดี จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายหมิ่นฯถูกนำมาใช้มากในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112มีปัญหาอย่างไร?
ปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112มีหลายประการ ได้แก่
1.การตีความ คำว่า "ดูหมิ่น" เป็นคำที่ไม่มีนิยามชัดเจนในกฎหมาย จึงขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายที่มีโทษอาญาที่ควรจะตีความให้แคบ ส่งผลให้กฎหมายมาตรานี้ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ประชาชนไม่สามารถทราบได้เลยว่า การกระทำใดของตนที่ทำไปแล้วจะเป็นความผิดบ้าง
2. อัตราโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกขั้นต่ำ 3-15 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สิทธิและเสรีภาพของบุคคลมีความสำคัญ
3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ไม่มีข้อยกเว้นความผิด กล่าวคือ ผู้ที่แม้แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลโดยสุจริตใจ ไม่สามารถอ้างเหตุใดๆ เพื่อไม่ต้องรับผิดได้ อีกทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้กล่าววิพากษ์วิจารณ์พิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนกล่าวนั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อขอให้ยกเว้นโทษ
4. กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้ใครก็ได้กล่าวหาใครก็ได้ว่า “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปที่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้ จึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่าย
5. แนวทางการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นมาตรฐานและไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาออกหมายจับแทนหมายเรียก การห้ามประกันตัว ซึ่งเป็นไปตามแรงกดดันทางสังคม ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 
6. กระบวนการพิจารณาคดีทางกฎหมายมักเป็นไปโดยลับและรวบรัดขัดต่อหลักกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยคดีดังกล่าวถูกมองว่าส่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งสื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาของข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยละเอียดได้ จึงปิดโอกาสที่ให้สังคมมีส่วนร่วมในการวินิจฉัย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง?
ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นโดยสุจริตในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวพันกับราชการแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  นอกจากนั้น อัตราโทษที่สูงและความไม่มีมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมายยังสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวและการเลือกที่จะเงียบของคนในสังคม ทั้งยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง ที่สำคัญยังส่งผลกระทบไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ยกตัวอย่าง กรณี“ขบวนการล่าแม่มดออนไลน์” ซึ่งเป็นกระบวนการนอกกฎหมายในการพิพากษาบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่าง โดยการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นและ/หรือครอบครัวมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อื่นต่อว่า หรือแม้กระทั่งข่มขู่ทำร้ายถึงชีวิต

ดังนั้นควรหาทางออกอย่างไร?
ที่ผ่านมา ทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านกฎหมายนี้ต่างเห็นพ้องกันในเบื้องต้นว่า กฎหมายนี้ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง.... ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯอย่างรอบด้าน และส่งเสริมให้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกเถียงในทางสาธารณะเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น